วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

“จิตแห่งการสังเคราะห์” การสร้างปัญญาแบบบูรณาการ


“การคิดเชิงสังเคราะห์จะช่วยให้เราเกิดความรอบคอบในแนวทาง ปฏิบัติเนื่องจากผ่านการคิดวิเคราะห์ที่มีข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้าน ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากความคิดจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย อันจะทำให้เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและตัวของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

ข้อความดังกล่าวเป็นคำกล่าวของศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ในวารสาร Harvard Business Review ที่ทำการสำรวจและสอบถามถึง คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของผู้นำในศตวรรษที่ 21 “Breakthrough Idea for 2006” จากนักคิดผู้ที่มีชื่อเสียงในแขนงต่างๆจำนวนกว่า 20 ท่าน


แนวคิดข้างต้นสอดคล้องกับแนวคิด จิตแห่งการสังเคราะห์ (Synthesizing Mind) ซึ่งเป็น1ใน 5 จิตของ Howard Gardner ที่ระบุไว้ในหนังสือ “Five Minds for the Future” ว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์จำเป็นจะต้องมีเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานในยุดศตวรรษที่ 21 ซึ่งจิตทั้ง 5 ประกอบไปด้วย

จิตแห่งวิทยาการ (Disciplined Mind) จิตแห่งการสังเคราะห์(Synthesizing Mind) จิตแห่งการสร้างสรรค์ (Creating Mind) จิตแห่งความเคารพ (Respectful Mind) และจิตแห่งคุณธรรม (Ethical Mind)



Gardner ได้รับแนวคิดเรื่องจิตแห่งการสังเคราะห์มาจาก Murray Gell-Man นักฟิสิกส์ชาวสหรัฐฯเจ้าของรางวัลโนเบลที่เคยกล่าวไว้เมื่อกว่า 75 ปีที่แล้วว่า......

“ในศตวรรษที่ 21 จิตที่สำคัญที่สุด คือ จิตแห่งการสังเคราะห์ หรือSynthesizing Minds”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารมีการหลั่งไหลข้อมูลอย่างรวดเร็วโดยปราศจากข้อจำกัดของระยะทาง สถานที่และเวลา การมี”จิตสังเคราะห์”จะทำให้มนุษย์ไม่เสียเวลาในการกลั่นกรองข้อมูลจำนวนมาก และสามารถเลือกรับข้อมูลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ และหลีกหนีจากข้อมูลที่ทำให้เกิดโทษได้

ซึ่ง Gardner เองก็เห็นพ้องเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเยาวชนให้มีความสามารถในการคิดเชิงสังเคราะห์ ก็เท่ากับเป็นการสร้างเกราะคุ้มกันภัยร้ายที่คุกคามอนาคตของเยาวชนได้ โดยที่ผู้ปกครองยังสามารถให้อิสระแก่ลูกๆในการใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาและความเดือดร้อนต่อตนเองและสังคม

การมี “จิตสังเคราะห์” จึงเป็นทักษะที่ล้ำลึกมากกว่าการวิเคราะห์เนื่องจากเป็นการนำสิ่งต่างๆที่เราวิเคราะห์ หรือทำการแยกแยะ เพื่อทำการศึกษากลับมารวมเข้าด้วยกันในเชิงจิตนาการเพื่อมุ่งสู่ความเข้าใจภาพรวมและเกิดองค์ความรู้ เกิดมุมอย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นความเข้าใจที่ลึกซึ้งสามารถนำไปใช้ได้เหนือระดับการวิเคราะห์

จิตแห่งการสังเคราะห์ ก่อให้เกิดปัญญาแบบบูรณาการ เกิดความเข้าใจเสริมเพิ่มขึ้นจากเดิม และสามารถอธิบายต่อให้กับผู้อื่นได้อย่างครบถ้วนชัดเจน และตรงประเด็น และการมี”จิตสังเคราะห์”ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเกิดกับนักคิดชั้นนำของโลกเท่านั้น เพราะการคิดสังเคราะห์ เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แนวทางการฝึกฝนให้เกิดจิตแห่งการสังเคราะห์นั้น ควรเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กให้ได้รับการฝึกฝนและส่งเสริมประเด็นต่อไปนี้



1.เปิดประสบการณ์ ให้เด็กได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลรูปแบบใหม่

2.แสวงหาความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ฝึกมองทุกสิ่งทุกอย่างให้เชื่อมโยงกันและพยายามหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างมีเหตุผล 3.ฝึกตีประเด็นช่วยคิดให้ชัดเจน อย่าคิดคลุมเครือ ฝึกจับประเด็นจากบทความที่ได้อ่าน ทั้งจากหนังสือ หรือสิ่งต่างๆที่ได้ฟังมา

4. แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น เพื่อให้ข้อมูลที่สังเคราะห์ได้มานั้นมีความเป็นกลางมากที่สุด

ประโยชน์ของจิตแห่งการสังเคราะห์นั้นมีมากมาย กล่าวโดยรวม คือ สามารถทำความเข้าใจกับข้อมูลจำนวนมากอย่างรวดเร็วและไม่หลงทิศทาง เพื่อสร้างสรรค์แนวคิดหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆและเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องไปเริ่มจากศูนย์หรือลองผิดลองถูกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ดังบัญญัติศัพท์ใหม่ที่มาใช้กันว่า”นวัตกรรม” ซึ่งหมายถึง ความสามารถพลิกแพลงความรู้ที่มีอยู่นำมาใช้ประโยชน์และพัฒนาจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้

ในวัยเรียน : จิตแห่งการสังเคราะห์ช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถจับประเด็นของวิชาต่างๆโดยแยกส่วนที่เป็นแก่น (Core) ออกมาจากรายละเอียด (Details) ทั้งหมด ทำให้ไม่ต้องท่องจำเนื้อหาวิชาที่มีมากมายและเข้าใจแนวคิดหรือประเด็นสำคัญในเรื่องเรื่องนั้นได้เป็นอย่างดี

วัยแห่งการทำงาน : จิตแห่งการสังเคราะห์ช่วยในการเรียนรู้ข้อมูลและทักษะใหม่ๆที่สำคัญ โดยจะนำมาผนวกกับงานในสายอาชีพเดิมที่มีอยู่ ก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆเป็นการต่อยอดทางความรู้ นอกจากนี้ “จิตสังเคราะห์”จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ทำให้สามารถกลั่นกรองข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลและทำให้ไม่หลงเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งง่ายๆ

การที่ชาติหรือบุคคลจะสร้างนวัตกรรมได้นั้น จึงต้องมีการคิดแบบสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการต่อยอดความรู้ที่มีอยู่เดิมให้ขยายไป จนเกิดมุมมองใหม่ๆในการแก้ปัญหานั้นๆได้อย่างครอบคลุมและถูกต้อง ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ “สำนักงาน ก.พ.” มุ่งหวังให้เกิดการปลูกฝังแนวคิดนี้ให้กับทุนมนุษย์ของคนในชาติ ภายใต้ “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้สาธารณะด้านการจัดการทุนมนุษย์” เพื่อพัฒนาความสามารถทางปัญญาของมนุษย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพของสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศจะต้องเผชิญต่อไปในโลกอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น