วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

“จิตแห่งการสังเคราะห์” การสร้างปัญญาแบบบูรณาการ


“การคิดเชิงสังเคราะห์จะช่วยให้เราเกิดความรอบคอบในแนวทาง ปฏิบัติเนื่องจากผ่านการคิดวิเคราะห์ที่มีข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้าน ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากความคิดจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย อันจะทำให้เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและตัวของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

ข้อความดังกล่าวเป็นคำกล่าวของศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ในวารสาร Harvard Business Review ที่ทำการสำรวจและสอบถามถึง คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของผู้นำในศตวรรษที่ 21 “Breakthrough Idea for 2006” จากนักคิดผู้ที่มีชื่อเสียงในแขนงต่างๆจำนวนกว่า 20 ท่าน


แนวคิดข้างต้นสอดคล้องกับแนวคิด จิตแห่งการสังเคราะห์ (Synthesizing Mind) ซึ่งเป็น1ใน 5 จิตของ Howard Gardner ที่ระบุไว้ในหนังสือ “Five Minds for the Future” ว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์จำเป็นจะต้องมีเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานในยุดศตวรรษที่ 21 ซึ่งจิตทั้ง 5 ประกอบไปด้วย

จิตแห่งวิทยาการ (Disciplined Mind) จิตแห่งการสังเคราะห์(Synthesizing Mind) จิตแห่งการสร้างสรรค์ (Creating Mind) จิตแห่งความเคารพ (Respectful Mind) และจิตแห่งคุณธรรม (Ethical Mind)



Gardner ได้รับแนวคิดเรื่องจิตแห่งการสังเคราะห์มาจาก Murray Gell-Man นักฟิสิกส์ชาวสหรัฐฯเจ้าของรางวัลโนเบลที่เคยกล่าวไว้เมื่อกว่า 75 ปีที่แล้วว่า......

“ในศตวรรษที่ 21 จิตที่สำคัญที่สุด คือ จิตแห่งการสังเคราะห์ หรือSynthesizing Minds”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารมีการหลั่งไหลข้อมูลอย่างรวดเร็วโดยปราศจากข้อจำกัดของระยะทาง สถานที่และเวลา การมี”จิตสังเคราะห์”จะทำให้มนุษย์ไม่เสียเวลาในการกลั่นกรองข้อมูลจำนวนมาก และสามารถเลือกรับข้อมูลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ และหลีกหนีจากข้อมูลที่ทำให้เกิดโทษได้

ซึ่ง Gardner เองก็เห็นพ้องเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเยาวชนให้มีความสามารถในการคิดเชิงสังเคราะห์ ก็เท่ากับเป็นการสร้างเกราะคุ้มกันภัยร้ายที่คุกคามอนาคตของเยาวชนได้ โดยที่ผู้ปกครองยังสามารถให้อิสระแก่ลูกๆในการใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาและความเดือดร้อนต่อตนเองและสังคม

การมี “จิตสังเคราะห์” จึงเป็นทักษะที่ล้ำลึกมากกว่าการวิเคราะห์เนื่องจากเป็นการนำสิ่งต่างๆที่เราวิเคราะห์ หรือทำการแยกแยะ เพื่อทำการศึกษากลับมารวมเข้าด้วยกันในเชิงจิตนาการเพื่อมุ่งสู่ความเข้าใจภาพรวมและเกิดองค์ความรู้ เกิดมุมอย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นความเข้าใจที่ลึกซึ้งสามารถนำไปใช้ได้เหนือระดับการวิเคราะห์

จิตแห่งการสังเคราะห์ ก่อให้เกิดปัญญาแบบบูรณาการ เกิดความเข้าใจเสริมเพิ่มขึ้นจากเดิม และสามารถอธิบายต่อให้กับผู้อื่นได้อย่างครบถ้วนชัดเจน และตรงประเด็น และการมี”จิตสังเคราะห์”ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเกิดกับนักคิดชั้นนำของโลกเท่านั้น เพราะการคิดสังเคราะห์ เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แนวทางการฝึกฝนให้เกิดจิตแห่งการสังเคราะห์นั้น ควรเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กให้ได้รับการฝึกฝนและส่งเสริมประเด็นต่อไปนี้



1.เปิดประสบการณ์ ให้เด็กได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลรูปแบบใหม่

2.แสวงหาความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ฝึกมองทุกสิ่งทุกอย่างให้เชื่อมโยงกันและพยายามหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างมีเหตุผล 3.ฝึกตีประเด็นช่วยคิดให้ชัดเจน อย่าคิดคลุมเครือ ฝึกจับประเด็นจากบทความที่ได้อ่าน ทั้งจากหนังสือ หรือสิ่งต่างๆที่ได้ฟังมา

4. แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น เพื่อให้ข้อมูลที่สังเคราะห์ได้มานั้นมีความเป็นกลางมากที่สุด

ประโยชน์ของจิตแห่งการสังเคราะห์นั้นมีมากมาย กล่าวโดยรวม คือ สามารถทำความเข้าใจกับข้อมูลจำนวนมากอย่างรวดเร็วและไม่หลงทิศทาง เพื่อสร้างสรรค์แนวคิดหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆและเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องไปเริ่มจากศูนย์หรือลองผิดลองถูกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ดังบัญญัติศัพท์ใหม่ที่มาใช้กันว่า”นวัตกรรม” ซึ่งหมายถึง ความสามารถพลิกแพลงความรู้ที่มีอยู่นำมาใช้ประโยชน์และพัฒนาจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้

ในวัยเรียน : จิตแห่งการสังเคราะห์ช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถจับประเด็นของวิชาต่างๆโดยแยกส่วนที่เป็นแก่น (Core) ออกมาจากรายละเอียด (Details) ทั้งหมด ทำให้ไม่ต้องท่องจำเนื้อหาวิชาที่มีมากมายและเข้าใจแนวคิดหรือประเด็นสำคัญในเรื่องเรื่องนั้นได้เป็นอย่างดี

วัยแห่งการทำงาน : จิตแห่งการสังเคราะห์ช่วยในการเรียนรู้ข้อมูลและทักษะใหม่ๆที่สำคัญ โดยจะนำมาผนวกกับงานในสายอาชีพเดิมที่มีอยู่ ก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆเป็นการต่อยอดทางความรู้ นอกจากนี้ “จิตสังเคราะห์”จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ทำให้สามารถกลั่นกรองข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลและทำให้ไม่หลงเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งง่ายๆ

การที่ชาติหรือบุคคลจะสร้างนวัตกรรมได้นั้น จึงต้องมีการคิดแบบสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการต่อยอดความรู้ที่มีอยู่เดิมให้ขยายไป จนเกิดมุมมองใหม่ๆในการแก้ปัญหานั้นๆได้อย่างครอบคลุมและถูกต้อง ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ “สำนักงาน ก.พ.” มุ่งหวังให้เกิดการปลูกฝังแนวคิดนี้ให้กับทุนมนุษย์ของคนในชาติ ภายใต้ “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้สาธารณะด้านการจัดการทุนมนุษย์” เพื่อพัฒนาความสามารถทางปัญญาของมนุษย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพของสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศจะต้องเผชิญต่อไปในโลกอนาคต

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หนังสือในมือคุณ (ครู)




การอ่านหนังสือ…
คือการท่องเที่ยวไปในอาณาจักรแห่งวิชาการ
เดินทอดน่องในอุทยานแห่งอักษร
เพลิดเพลินกับการชมดอกไม้แห่งภูมิปัญญาของปวงปราชญ์
จุดมุ่งหมายของการอ่านที่แท้จริง
ไม่ใช่อ่านเพื่อให้คลายความหงอยเหงา
ไม่ใช่อ่านเพื่อความชำนาญในด้านภาษา
ไม่ใช่อ่านเพื่อความเป็นผู้รอบรู้
แต่อ่านเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
การอ่านที่ได้ผล…
ต้องอ่านโดยเชื่อมโยงความรู้ใหม่ให้เข้ากับความรู้เก่า
นำความรู้ที่ได้จากการอ่านไปจับคู่
แต่งงานกับความรู้เดิมที่มีอยู่ในมันสมอง
ความรู้ใหม่กับความรู้เดิมก็จะออกลูกออกหลาน
เป็นความรู้สายพันธ์ใหม่ที่แข็งแรง
อันเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ไม่เคยมีในโลกมาก่อน
แม้คุณจะหนอนหนังสือมากแค่ไหน
อ่านหนังสือทุกชนิดที่ขวางหน้า
จดจำคำคมของปวงปราชญ์ได้มากมาย
เล่าประวัติบุคคลสำคัญได้อย่างละเอียด
ท่องจำข้อมูลตัวเลขได้แม่นยำ
แต่ไม่อาจนำไปประยุกต์ใช้ได้
คุณเป็นได้อย่างดีก็แค่…
เครื่องถ่ายเอกสารเดินได้
มันสมองของคุณก็คือถังขยะข้อมูลใบใหญ่
ฉันตั้งข้อสังเกตประเภทนักเขียนหนังสือ ดังนี้
ประเภทที่ 1 เขียนตามหลักวิชาการ
ผู้เขียนต้องมีความรู้กว้างขวางแต่ด้อยความลุ่มลึก
ใครที่มีการศึกษาสูงก็เขียนได้
ประเภทนี้เขียนได้ไม่ยากนัก
ประเภทที่ 2 เขียนตามข้อมูลเท็จจริง
ด้วยการสะท้อนภาพสังคมโดยการเจือภาษาวรรณศิลป์เข้าไป
นำพาคนอ่านให้สะเทือนใจได้บ้าง
ประเภทนี้เขียนได้ยากกว่าประเภทแรก
ประเภทที่ 3 เขียนตามจินตนาการ
คือการสร้างภาพบนพื้นที่ความคิดที่ว่างเปล่า
จูงใจผู้อ่านให้สะกดรอยตามลายแทงแห่งอักษร
ประเภทนี้เขียนยากกว่าสองประเภทข้างต้น
ประเภทที่ 4 เขียนเพื่อให้ทางออก
โดยการนำผู้อ่านให้เข้าถึงความคิดของตน
จนสามารถตอบโจทย์ชีวิตได้
ประเภทนี้เป็นงานเขียนที่ดีที่สุด



คุณเองอาจเคยอ่านหนังสือมาหลายเล่ม
บางเล่มคุณอ่านได้ไม่กี่หน้าก็ต้องวางทิ้ง
เพราะขาดความหนักแน่นในเนื้อหา
ขาดความโดดเด่นในภาษา
ขาดความนุ่มนวลทางอารมณ์
ขาดความลุ่มลึกทางวิสัยทัศน์
บางเล่มคุณอ่านจนวางไม่ลง
เพราะครบถ้วนด้วยเนื้อหาสาระ
คมคายด้วยภาษาวรรณศิลป์
ให้ความอ่อนโยนทางอารมณ์
และชัดเจนด้วยทางออก
ถ้าคุณสามารถย่อหรือขยายใจความได้
คุณย่อมนำความรู้นั้นเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและสังคมได้
ถ้าคุณแตกฉานยิ่งกว่านี้
จนคุณพัฒนาต่อยอดความคิดออกไปได้อีก
คุณคือปราชญ์คนหนึ่งของแผ่นดิน
แม้ว่าคุณจะไม่ได้จบปริญญาก็ตามที
เพราะโลกในวันนี้
ต้องการองค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่มีในหลักสูตร
ต้องการนวัตกรรมทางความคิดชนิดใหม่

ที่ยังไม่ได้ถูกเขียนเป็นตำรา
ต้องการทางเลือกใหม่ที่แตกต่างไปจาก
ทางเลือกเดิมๆ รูปแบบเก่าๆ
การอ่านหนังสือนั้นดีแล้ว
แต่ถ้าอ่านหนังสือแล้วถูกชี้นำทางความคิด
สู้ไม่รู้หนังสือเลยยังจะดีกว่า
เมื่ออ่านจนมีความรู้แล้ว
ระวังจะเดินตกหลุมดำทางความรู้ของตน
อย่าติดกับดักในความฉลาดของตน
การอ่านจึงเป็นการพัฒนาความคิดที่ยอดเยี่ยม
โดยไม่เป็นทาสความคิดของใครและของตนเอง
แต่วันนี้เราชอบถ่ายสำเนาบุคลิกภาพของคนอื่น
มาใส่ลงในกรอบชีวิตของเรา…อย่างน่าสงสาร

สอนดีต้องมีหลัก



ในระบบจัดการศึกษา “ครู” เป็นปัจจัยหลัก

ถ้าจะพัฒนาระบบการศึกษาที่ดี
ต้องเริ่มจากพัฒนา “ครู”
คุณภาพของครูจึงมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของการ
ศึกษา


ครูที่ดีมีคุณลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาการศึกษา

และพัฒนาประเทศ มีลักษณะ 3 ประการคือ

1.สอนดี 2.มีคุณธรรม 3.นำชุมชนพัฒนา

การสอนเป็นภารกิจหลักของการเป็นครู

การสอนที่ดีควรมีหลักดังนี้


1.ศึกษาหลักสูตรให้กระจ่าง 2.วางแผนการสอนอย่างดี


3.มีกิจกรรม/ทำอุปกรณ์ 4.สอนจากง่ายไปยาก


5.วิธีสอนหลายหลากหลายชนิด 6.สอนให้คิดมากกว่าจำ


7.สอนให้ทำมากกว่าท่อง 8.แคล่วคล่องเรื่องสื่อสาร


9.ต้องชำนาญการจูงใจ 10.อย่าลืมใช้จิตวิทยา


11.ต้องพัฒนาอารมณ์ขัน 12.ต้องผูกพันห่วงหาศิษย์


13.เฝ้าตามติดพฤติกรรม 14.อย่าทำตัวเป็นทรราช


15.สร้างบรรยากาศไม่น่ากลัว
16.ประพฤติตัวตามที่สอน


17.อย่าตัดรอนกำลังใจ
18.ใช้เทคนิคการประเมิน


19.ผู้เรียนเพลินมีความสุข 20.ครูสนุกกับนักเรียน



ที่มา : 1.หนังสือ “สอนดีต้องมีหลัก” รศ.ดร.ทองคูณ หงส์พันธุ์
2.บรรณิทัศน์นางวาสนา ต้นสาลี กรกฎาคม 2548