วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หนังสือในมือคุณ (ครู)




การอ่านหนังสือ…
คือการท่องเที่ยวไปในอาณาจักรแห่งวิชาการ
เดินทอดน่องในอุทยานแห่งอักษร
เพลิดเพลินกับการชมดอกไม้แห่งภูมิปัญญาของปวงปราชญ์
จุดมุ่งหมายของการอ่านที่แท้จริง
ไม่ใช่อ่านเพื่อให้คลายความหงอยเหงา
ไม่ใช่อ่านเพื่อความชำนาญในด้านภาษา
ไม่ใช่อ่านเพื่อความเป็นผู้รอบรู้
แต่อ่านเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
การอ่านที่ได้ผล…
ต้องอ่านโดยเชื่อมโยงความรู้ใหม่ให้เข้ากับความรู้เก่า
นำความรู้ที่ได้จากการอ่านไปจับคู่
แต่งงานกับความรู้เดิมที่มีอยู่ในมันสมอง
ความรู้ใหม่กับความรู้เดิมก็จะออกลูกออกหลาน
เป็นความรู้สายพันธ์ใหม่ที่แข็งแรง
อันเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ไม่เคยมีในโลกมาก่อน
แม้คุณจะหนอนหนังสือมากแค่ไหน
อ่านหนังสือทุกชนิดที่ขวางหน้า
จดจำคำคมของปวงปราชญ์ได้มากมาย
เล่าประวัติบุคคลสำคัญได้อย่างละเอียด
ท่องจำข้อมูลตัวเลขได้แม่นยำ
แต่ไม่อาจนำไปประยุกต์ใช้ได้
คุณเป็นได้อย่างดีก็แค่…
เครื่องถ่ายเอกสารเดินได้
มันสมองของคุณก็คือถังขยะข้อมูลใบใหญ่
ฉันตั้งข้อสังเกตประเภทนักเขียนหนังสือ ดังนี้
ประเภทที่ 1 เขียนตามหลักวิชาการ
ผู้เขียนต้องมีความรู้กว้างขวางแต่ด้อยความลุ่มลึก
ใครที่มีการศึกษาสูงก็เขียนได้
ประเภทนี้เขียนได้ไม่ยากนัก
ประเภทที่ 2 เขียนตามข้อมูลเท็จจริง
ด้วยการสะท้อนภาพสังคมโดยการเจือภาษาวรรณศิลป์เข้าไป
นำพาคนอ่านให้สะเทือนใจได้บ้าง
ประเภทนี้เขียนได้ยากกว่าประเภทแรก
ประเภทที่ 3 เขียนตามจินตนาการ
คือการสร้างภาพบนพื้นที่ความคิดที่ว่างเปล่า
จูงใจผู้อ่านให้สะกดรอยตามลายแทงแห่งอักษร
ประเภทนี้เขียนยากกว่าสองประเภทข้างต้น
ประเภทที่ 4 เขียนเพื่อให้ทางออก
โดยการนำผู้อ่านให้เข้าถึงความคิดของตน
จนสามารถตอบโจทย์ชีวิตได้
ประเภทนี้เป็นงานเขียนที่ดีที่สุด



คุณเองอาจเคยอ่านหนังสือมาหลายเล่ม
บางเล่มคุณอ่านได้ไม่กี่หน้าก็ต้องวางทิ้ง
เพราะขาดความหนักแน่นในเนื้อหา
ขาดความโดดเด่นในภาษา
ขาดความนุ่มนวลทางอารมณ์
ขาดความลุ่มลึกทางวิสัยทัศน์
บางเล่มคุณอ่านจนวางไม่ลง
เพราะครบถ้วนด้วยเนื้อหาสาระ
คมคายด้วยภาษาวรรณศิลป์
ให้ความอ่อนโยนทางอารมณ์
และชัดเจนด้วยทางออก
ถ้าคุณสามารถย่อหรือขยายใจความได้
คุณย่อมนำความรู้นั้นเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและสังคมได้
ถ้าคุณแตกฉานยิ่งกว่านี้
จนคุณพัฒนาต่อยอดความคิดออกไปได้อีก
คุณคือปราชญ์คนหนึ่งของแผ่นดิน
แม้ว่าคุณจะไม่ได้จบปริญญาก็ตามที
เพราะโลกในวันนี้
ต้องการองค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่มีในหลักสูตร
ต้องการนวัตกรรมทางความคิดชนิดใหม่

ที่ยังไม่ได้ถูกเขียนเป็นตำรา
ต้องการทางเลือกใหม่ที่แตกต่างไปจาก
ทางเลือกเดิมๆ รูปแบบเก่าๆ
การอ่านหนังสือนั้นดีแล้ว
แต่ถ้าอ่านหนังสือแล้วถูกชี้นำทางความคิด
สู้ไม่รู้หนังสือเลยยังจะดีกว่า
เมื่ออ่านจนมีความรู้แล้ว
ระวังจะเดินตกหลุมดำทางความรู้ของตน
อย่าติดกับดักในความฉลาดของตน
การอ่านจึงเป็นการพัฒนาความคิดที่ยอดเยี่ยม
โดยไม่เป็นทาสความคิดของใครและของตนเอง
แต่วันนี้เราชอบถ่ายสำเนาบุคลิกภาพของคนอื่น
มาใส่ลงในกรอบชีวิตของเรา…อย่างน่าสงสาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น