วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

8 เรื่องของเด็กและครูยุคใหม่


เด็กยุคใหม่ต้องมี 4 ร.
1. รู้เท่าทันโลก - เป็นผู้บริโภคที่ฉลาดกว่า
2. เรียนรู้ชำนาญ เชี่ยวชาญปฏิบัติ – มีการคิดพัฒนา มองสิ่งต่างๆอย่างลึกซึ้ง เชื่อมโยงกัน
3. ร่วมสร้างสรรค์สังคม – มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม สืบสานวัฒนธรรมความเป็นไทย
4. รู้นิยมไทย ใฝ่สันติ – รักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย ท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรมโลก และ
อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติสุข
ครูยุคใหม่ต้องคิดใหม่ คิดใหญ่ คิดบวก
1. Self awareness : มุ่งมั่นพัฒนาตน พัฒนางาน พัฒนาวิชาชีพและผู้เรียนด้วยความรัก
2. Reverse Role : เด็ก เยาวชนต้องการการสอน การอบรม การแนะนำ การให้คำปรึกษา ตามที่เขาเป็นและ
ต้องการ ไม่ใช่ตามที่เราต้องการให้เป็น
3. การให้ข้อมูลที่ผสมผสานด้วยศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้เขาได้รับข้อมูลที่เป็นจริง เข้าใจและนำไปใช้ได้จริง
4. การเปลี่ยนแนวคิดใหม่ “สอนมากเชี่ยวชาญมาก”
“สอนสิ่งที่เด็กอยากรู้และควรรู้ ให้รอบรู้ ไม่ใช่สอนแค่เรื่องที่ครูรู้”

“สอนนอกตำรา ให้เด็กคิด-ทำ-นำเป็น แต่อยู่ในขอบเขตศีลธรรม”

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บำรุงสมองด้วยสองมือแม่







วันนี้คุณครูเบญจวรรณ ใจสุข (ครูเอ) มี 8 เคล็ด(ไม่) ลับ “วิธีเลี้ยงดูสมองเด็กเล็กน่ารัก” มาฝากค่ะ

1. การให้ความรักความอบอุ่น การดูแลและเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความอบอุ่น นอกจากจะทำให้ลูกรักรู้สึกมั่นคงต่อความรักของพ่อแม่มีให้แล้ว ลูกก็จะเติบโตและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์เต็มศักยภาพ

2. สัมผัสสม่ำเสมอด้วยความรัก การนวดหรือนวดทารกด้วยความอ่อนโยนอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 15 นาที จะช่วยให้น้ำหนักตัวของทารกปกติสมวัย ทำให้ทารกกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัวและร้องไห้น้อยลง ที่สำคัญการอุ้มแบบแนบชิดให้ลูกแนบอยู่กับอกหัวใจแม่ จะช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีสุขภาพแข็งแรงเร็วขึ้น

3. ใส่ใจฟังและพูดคุยกับลูก การพูดคุยหรือปฏิบัติซ้ำๆ เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นต้องพูดคุยกับลูกแม่ลูกจะโต้ตอบกันด้วยการส่งเสียงอือ อา แบบทารกก็ตาม ไม่ว่าจะทำอะไร ควรเอ่ยชื่อการกระทำและชื่อสิ่งนั้นเสมอ พร้อมกับชี้หรือหยิบให้ลูกเห็นสิ่งที่พูดหรือการกระทำนั้นๆ ด้วยทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้ลูกพัฒนาและเรียนรู้เรื่องภาษา และการพูดสื่อสารสื่อความหมายได้เร็วขึ้น

4. ทำให้ทุกเวลาเป็นการเรียนรู้แสนสนุกของลูก เพราะลูกรักเติบโตและเรียนรู้ทุกเวลานาที เช่น เวลาแต่งตัวให้ลูกก็พูดคุยกับลูกไปด้วยว่านี่คือเสื้อสีแดง กางเกงสีขาวเป็นต้น แต่ให้เป็นการเรียนรู้แบบธรรมชาติไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญให้ลูกสนใจ

5. ทักษะคณิตศาสตร์สัมพันธ์กับดนตรี เพราะสมองบริเวณที่รับรู้เรื่องดนตรีนั้นเป็นบริเวณเดียวกับที่เรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์และมิติสัมพันธ์ด้วย ดังนั้นการฟังดนตรีจึงช่วยพัฒนาทักษะด้านคณิตศาสตร์และมิติสัมพันธ์ของลูก นั่นเอง

6. อารมณ์เกี่ยวข้องกับความเครียดและการผักผ่อน ระบบสมองส่วนลิมบิกจะทำหน้าที่ดูแลการแสดงออกของอารมณ์และช่วยให้เราตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ เช่น วิ่ง กระโดด ร้องไห้ เป็นต้น ถ้าลูกรักถูกละเลยและมีความทุกข์จะมีปัญหาในการเรียนและมีความประพฤติที่ไม่ดีในภายหลังได้

7. การออกกำลังกาย ลูกรักต้องการออกกำลังกายในทุกส่วนของร่างกายไม่ว่าจะมีขนาดเล็ก เช่น นิ้ว ส้นเท้า เป็นต้นและอวัยวะขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แรงและกำลัง เช่น ขาเป็นต้น ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เด็กๆได้เล่น ได้ทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากๆ ตามความเหมาะสม

8. พ่อแม่คือกระจกสะท้อนลูก ลูกรักจะซึมซับพฤติกรรมของพ่อแม่ / ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้าง ถ้าพ่อแม่เสียงดังลูกก็จะเสียงดังด้วย ถ้าพ่อแม่สัมผัสลูกด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวล ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะประพฤติปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวลเช่นกัน ฯลฯ ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ต้องตระหนักว่าทุกๆการกระทำของเรา ทั้งดีและไม่ดี ลูกจะดูเป็นแบบอย่างและประพฤติปฏิบัติตาม

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การเรียนแบบสองภาษา (Bilingual Program)


การเรียนแบบสองภาษา
(Bilingual Program)
ประชานิยม หรือ ทางออกการศึกษาไทย


ปัจจุบันกระแสความนิยมของผู้ปกครองในการส่งบุตรลานได้ศึกษา
เล่าเรียนในแผนกสองภาษา หรือแม้แต่การเรียนพิเศษเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ นั้นกำลังมาแรง ทำให้โรงเรียนที่สอนแบบสอง (หรือสาม) ภาษานั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคต่างๆ จนหลายท่านตั้งคำถามขึ้นว่า การเลือกให้บุตรหลานได้เรียนแบบสองภาษาในยุดปัจจุบันนี้จำเป็นหรือไม่ ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร จะมีเงินพอจ่ายหรือเปล่า และหรือการเรียนแบบสองภาษานี้เป็นเพียงกระแส “ประชานิยม” หรือว่ามันเป็น “ทางออกของการศึกษาไทย” ในอนาคตอันใกล้นี้
ส่วนหนึ่งของกระแสความนิยมการเรียนการสอนแบบสองภาษาที่เพิ่มมากขึ้นนั้น มาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของสังคมโลกาภิวัตน์ อีกทั้งทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในอนาคต รวมถึงแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Mega Projects) การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA (Asian Free Trade Area) การติดต่อธุรกิจค้าขายมากขึ้นกับต่างชาติ หรือแม้แต่นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำและศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียน (Asian Hub) โดยการมุ่งหวังให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคอาเซียน (Asian Education Hub) เป็นต้น
นอกจากโรงเรียนนานาชาติ (International School) แล้ว สถานศึกษาในประเทศไทยซึ่งจัดการเรียนการสอนแบบสองภาษา (Bilingual School) อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ ประเภทโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program, EP หรือที่เรียกกันว่า Bilingual Program) ในระดับชั้นต่างๆ ประเภทโรงเรียนที่จัดโครงการ Mini English (Bilingual) Program ซึ่งสอนแบบสองภาษาในบางรายวิชา เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ หรือวิชาสุขศึกษา เป็นต้น และประเภทโรงเรียนที่จัดโครงการพัฒนาศักยภาพพิเศษแบบเข้มข้นในสาขาวิชาต่างๆ (Intensive Program, IP)
การเรียนการสอนแบบสองภาษา (Bilingual Education) และการเรียนรู้ภาษา (Language Learning) ต่างกันอย่างไร? การเรียนภาษา เช่น ภาษาอังกฤษนั้นเป็นการเรียนรู้ทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ส่วนการเรียนการสอนแบบสองภาษานั้น เป็นการเรียนรู้เนื้อหาสาระวิชาผ่านการใช้ภาษา 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษไปพร้อมๆ กัน
หลายคนอาจสงสัยหรือสับสนเกี่ยวกับคำที่ใช้ คือ English Program และ Bilingual Program เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? จริงๆ แล้วคำว่า “การศึกษาแบบสองภาษา (Bilingual Education)” เป็นคำสากลที่ใช้กันทั่วโลกแม้ว่าจะถูกตีความหรือแปลความกันไปแตกต่างกัน ส่วนคำว่า “English Program (EP)” นั้นเป็นคำที่ใช้กันในแวดวงการศึกษาไทย ซึ่งหมายความถึง “โรงเรียนสองภาษา (Bilingual School)” หรือว่าโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการแบบหรือ “แผนกสองภาษา (Bilingual Program)” ซึ่งเป็นคำที่นิยมใช้กัน เป็นต้นในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (English as a Second Language) ในการติดต่อสื่อสาร
เหตุที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การเรียนการสอนแบบสองภาษา (Bilingual Education) ได้รับความนิยมและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 200 แห่ง ก็เพราะการเรียนการสอนแบบสองภาษานี้สามารถ “เติมเต็มช่องว่าง” ระหว่างการเรียนภาษาอังกฤษแบบไทยเดิมๆ และการเรียนโรงเรียนนานาชาติทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งน้อยคนนักจะมีโอกาสได้เรียนเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวฐานะปานกลางจึงมีความสามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนในแผนกสองภาษาได้ อีกทั้งสมาชิกในครอบครัวก็ยังได้ใกล้ชิดกัน รวมถึงไม่ต้องกังวลใจด้วยว่าบุตรหลานที่ส่งไปศึกษายังต่างประเทศนั้นจะหลงลืมวัฒนธรรมประเพณีไทยไป ฉะนั้น การเรียนการสอนแบบสองภาษาในปัจจุบันจึงเสมือนเป็น “คำตอบ” ของพ่อแม่ยุคใหม่ ที่ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนรู้ความเป็นสากลแต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของไทยได้ในขณะเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการวางฐานอนาคตบุตรหลานให้พร้อมสำหรับสังคมโลกไร้พรหมแดนแห่งอนาคตอันใกล้นี้
สถานศึกษาที่ใช้การเรียนการสอนแบบสองภาษานั้น นักเรียนจะได้เรียนรู้ไปด้วยกันทั้งภาษาแม่ (ภาษาไทย) และภาษาที่สอง (ภาษาอังกฤษ) อีกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษต่างถูกใช้ในการเรียนการสอนตามเนื้อหาสาระวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา ฯลฯ ไปพร้อมๆ กัน ดังนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงมั่นใจได้ว่าเมื่อท่านส่งบุตรหลานเข้าเรียนแผนกสองภาษาแล้ว ลูกหลานของท่านมีศักยภาพในการสื่อสารได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อีกทั้งเป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้การรับรอง บุคลากรผู้สอนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก็ได้รับการคัดสรรและเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี และที่สำคัญลูกหลานของท่านมีความสุขและสนุกไปกับบรรยากาศการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน
ประโยชน์สำหรับการเรียนแบบสองภาษาโดยอาจารย์ต่างชาติเจ้าของภาษา (Native Speakers) นั้น นอกจากผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในเนื้อหาสาระวิชา มีโอกาสฝึกฝนทักษะสำเนียงภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องชัดเจนแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม ค่านิยม ความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างนักเรียนและอาจารย์ชาวต่างชาติอีกด้วย เช่น เรื่องอาหารการกิน การแต่งกาย ศิลปะ วรรณกรรม หรือแม้แต่ความเชื่อซึ่งถือเป็นรากฐานของแต่ละวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์อีกทั้งทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ยอมรับ และเคารพความแตกต่างของคนในวัฒนธรรมอื่นได้เป็นอย่างดี
นักเรียนสองภาษามักจะมีข้อได้เปรียบซึ่งแตกต่างจากนักเรียนภาคปกติ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการพูดอ่านเขียนได้สองภาษา ความเข้าใจลึกซึ้งในวัฒนธรรมต่างๆ ได้ดี มีความคิดสร้างสรรค์ การรู้จักสื่อสารอย่างฉลาด มีความมั่นใจในตัวเอง มีความมั่นคงในเอกลักษณ์ของตนเอง สามารถเรียนภาษาที่สามได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเป็นการวางพื้นฐานอนาคตที่มั่นคง การศึกษาต่อ หรือการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ เป็นต้น
เหตุใดจึงมักเรียนดนตรีและศิลปะ (Music & Arts) ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนแบบสองภาษา? แท้ที่จริงแล้วการฟัง ร้องเพลง หรือดูภาพยนตร์ภาษาอังกฤษนั้น เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด นอกจากดนตรีและศิลปะช่วยสร้างเสน่ห์ส่วนบุคคลให้กับผู้เรียนแล้ว ยังช่วยฝึกฝนสมาธิ ความมุมานะอดทน ความสามัคคี การทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ช่วยขัดเกลาจิตใจให้อ่อนโยน สร้างสรรค์จินตนากร บำบัดสภาวะทางจิตให้สมดุล อีกทั้งพัฒนาประสิทธิภาพของเซลล์สมองอีกด้วย
เด็กวัยใดที่สามารถเริ่มเรียนแบบสองภาษาได้ คำตอบคือ เมื่อเด็กเริ่มหัดพูดก็สามารถเริ่มสอนภาษาได้เลย แต่ช่วงอายุที่เหมาะสม คือ ช่วง 3-4 ขวบ เพราะเป็นวัยที่เด็กเริ่มพูดและซักถาม เริ่มสนใจสิ่งต่างๆรอบตัว เด็กเล็กจะรับรู้ภาษาได้ง่ายและเป็นธรรมชาติ เรียนรู้ประสบการณ์โดยการวิ่งเล่น กระโดด ระบายสี เล่นกิจกรรมต่างๆ เด็กเล็กจะไม่กังวลถึงข้อผิดพลาดในการใช้ภาษา พวกเด็กสนใจเพียงการสื่อสารข้อมูลให้คนอื่นได้ทราบและการรับรู้ข้อมูลที่พวกเขาต้องการ
มีการคาดการณ์ว่านิสิตจบใหม่ในอีก 10 ปีข้างหน้า หากรู้เพียง 2 ภาษาแค่นั้นมีโอกาสตกงานสูง ดังนั้น หลายๆ สถานศึกษาในปัจจุบันจึงส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภาษาที่สาม เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น ไม่ว่าการเรียนสองภาษาจะเป็นการทำกระแสสังคมหรือไม่ก็ตาม แต่สำหรับนักการศึกษาหลายๆ คนแล้ว นี่คือโอกาสและทางเลือกสำคัญของการศึกษาไทยในยุคปัจจุบันและอนาคต นี่อาจเป็นคำตอบหรือทางออกของวังวนการศึกษาของประเทศไทย
และนี่คือ การเรียนการสอนแบบสองภาษา (Bilingual Education) การศึกษาทางเลือกของคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกลสำหรับบุตรหลานในอนาคต
โดย บาทหลวงสมเกียรติ จูรอด
ผู้จัดการโรงเรียนดรุณากาญจนบุรี
5 July 2010